รมว.ต่างประเทศสหรัฐ เรียกร้องจีน-อาเซียน ช่วยผลักดันให้เมียนมายุติความรุนแรง

วิลาวัลย วัชรศักดิ์เวช
2022.07.10
กรุงเทพฯ
รมว.ต่างประเทศสหรัฐ เรียกร้องจีน-อาเซียน ช่วยผลักดันให้เมียนมายุติความรุนแรง นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา (ซ้ายมือ) พูดคุยกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ วันที่ 10 กรกฎาคม 2665
สำนักนายกรัฐมนตรี

นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เรียกร้องให้ประเทศไทยและชาติสมาชิกกลุ่มอาเซียนช่วยผลักดันให้รัฐบาลทหารเมียนมายุติการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนของตนและกลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตย หลังจากที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในโอกาสเดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในวันอาทิตย์นี้

หลังจากเสร็จสิ้นการเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ แล้ว นายแอนโทนี บลิงเคน ได้แถลงข่าวแก่ผู้สื่อข่าว โดยได้เรียกร้องให้ผู้นำชาติสมาชิกประชาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน กดดันรัฐบาลทหารเมียนมาให้ดำเนินการตามแผนที่ได้ตกลงไว้เมื่อสองเดือนก่อน

“สหรัฐฯ กำลังทำงานร่วมกับไทยและชาติอาเซียนอื่น ๆ ในการผลักดันให้รัฐบาลพม่าทำตามฉันทามติห้าข้อที่ทำไว้กับอาเซียน ยุติความรุนแรงที่ป่าเถื่อนและหันกลับเข้าสู่เส้นทางประชาธิปไตย” นายแอนโทนี บลิงเคน กล่าว โดยใช้ชื่อเดิมของประเทศเมียนมา

“เป็นหน้าที่ของจีน และเป็นความสนใจของจีนที่จะเห็นพม่ากลับสู่วิถีเดิม”

เมื่อเดือนเมษายน 2564 พลเอกอาวุโส มิน ออง ลาย ได้เห็นชอบกับกลุ่มอาเซียนว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง ฉันทามตินั้นประกอบด้วย การยุติความรุนแรงในประเทศในทันที การให้ความช่วยเหลือด้านมุนษยธรรม การเจรจาของทุกฝ่าย รวมทั้งการยินยอมให้ทูตพิเศษอาเซียนเกี่ยวกับกิจการเมียนมาซึ่งต้องได้รับอนุญาตให้สามารถเข้าไปพูดคุยกับทุกฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียได้

“แต่โชคไม่ดีที่เราพูดได้ว่าไม่มีความเคลื่อนไหวในทางบวกใด ๆ เลย ในทางตรงกันข้าม เรากลับเห็นชาวพม่าถูกข่มเหงอยู่อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลไม่ได้ให้สิ่งที่ประชาชนปรารถนาเลย” นายแอนโทนี บลิงเคน กล่าวและระบุว่ายังมีนักการเมืองฝ่ายค้านถูกจำคุก 

ด้านฝ่ายไทยนั้นได้ชี้แจงว่า ได้ติดตามสถานการณ์ในเมียนมา และตอบสนองสถานการณ์ไปตามความเหมาะสม

“ประเทศไทยชี้แจงว่าได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมตามที่เหมาะสมผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งในกรอบทวิภาคี อาเซียน และองค์การระหว่างประเทศ” นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

แถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา

นายแอนโทนี บลิงเคน มาเยือนประเทศไทยหลังจากที่ได้ร่วมการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของกลุ่ม G20 ที่บาหลี อินโดนีเซีย ในวันก่อนหน้านี้ และในวันนี้ยังได้เข้าพบนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีการต่างประเทศของไทย โดยได้ลงนามใน “แถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรและหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา” U.S.-Thailand Communiqué on Strategic Alliance and Partnership

“ประเทศของเรามีเป้าหมายเดียวกัน คือ ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่อิสระ เปิดกว้าง มีความเชื่อมโยงกัน รุ่งเรือง ยืดหยุ่นและมั่นคง ในห้วงปีที่ผ่านมานี้ เราได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดยิ่งกว่าเก่าในการดำเนินตามวิสัยทัศน์นี้” นายแอนโทนี บลิงเคน กล่าว

“ผมยินดีมากที่ได้มายังประเทศไทย โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่พันธมิตรและหุ้นส่วนชาติสำคัญของเราในอินโด-แปซิฟิก ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างภูมิทัศน์ของภูมิภาคนี้ในทศวรรษที่ 21”

220710-th-us-bangkok-meeting-inside.jpg

นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (ซ้าย) และนายดอน ปรมัติวินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย ลงนามในบันทึกความเข้าใจที่กระทรวงการต่างประเทศไทย ในกรุงเทพฯ วันที่ 10 กรกฎาคม 2565 (สเตฟานี เรย์โนลด์ส/เอพี)

รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศทั้งสอง ยังได้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยการส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน

แถลงการณ์ว่าด้วยความเป็นพันธมิตรฯ ได้ระบุถึงการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตของสองชาติที่ในปีหน้านี้จะครบรอบ 190 ปี ยังได้กล่าวถึงเป้าหมายระยะยาวของการเพิ่มและยกระดับการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์เพื่อป้องกันความขัดแย้ง อนุรักษ์ไว้ซึ่งสภาวะทางความมั่นคงที่มีความสงบสุข ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง และสร้างเสริมความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเพื่อทุกคนอย่างสมดุลและยั่งยืน

“เราดำเนินการเพื่อให้บรรลุผลอย่างเท่าเทียมเพื่อผลประโยชน์ของทั้งประชาชนชาวไทยและอเมริกัน รวมทั้งประชาชนอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ไปจนถึงประชากรหลากหลายในโลก เราเสาะแสวงหาช่องทางในการทำงานร่วมกัน เพื่อให้แน่ใจว่าเราจะมีห่วงโซ่อุปทานสินค้าที่สำคัญที่เข้มแข็ง ซึ่งจะทำให้ทั้งสองประเทศมีสินค้าและทรัพยากรที่จำเป็นในการรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัย ความมั่นคง และความรุ่งเรือง”

การประชุมที่บาหลี

นายแอนโทนี บลิงเคน เดินทางมายังประเทศไทย หลังจากการพบปะและเจรจาเป็นเวลาห้าชั่วโมงกับ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน หลังการประชุมรัฐมนตรีว่ากระทรวงการต่างประเทศของกลุ่ม G20 บนเกาะบาหลี ซึ่งมหาอำนาจทั้งสองประเทศต่างต้องการรักษาความสัมพันธ์กับประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ นายหวัง อี้ ได้เดินทางมายังประเทศไทย ก่อนที่จะเดินทางไปประชุมที่เกาะบาหลี

นายแอนโทนี บลิงเคน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “เราไม่ได้ขอให้ประเทศทั้งหลายต้องเลือก แต่กำลังให้ทางเลือกกับทุกคน ในเรื่องการลงทุน โครงสร้างพื้นฐาน และ การพัฒนาในด้านต่าง ๆ

“เราอยากให้มั่นใจว่า สิ่งที่เรากำลังแข่งขันกันเพื่อไปสู่จุดสูงสุด เราได้ทำทุกอย่างด้วยมาตรฐานสูงสุด ไม่ได้แข่งกันไปหาจุดต่ำด้วยมาตรฐานที่ต่ำที่สุด” 

หวัง อี้ เดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อวันที่ 5 กรกฎาคม ที่ผ่านมาและได้พบปะกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายดอน ปรมัตวินัย เช่นเดียวกัน

“เราทั้งสองต่างเห็นพ้องกันในหลายประเด็น เราตกลงกันว่า เราควรร่วมสร้างชุมชนร่วมเพื่ออนาคตของชาวจีนและชาวไทย สร้างแนวทางสำหรับความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นในอนาคตระหว่างทั้งสองประเทศ ... วัตถุประสงค์ในการสร้างชุมชนร่วมกันเพื่อตอกย้ำว่าชาวจีนและชาวไทยไม่ใช่คนแปลกหน้าแต่เป็นญาติกัน เป็นความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง” นายหวัง อี้ แถลงกับนักข่าวที่กรุงเทพฯ หลังจากพบปะกับนายดอน

หลังจากนี้ นายแอนโทนี บลิงเคน จะเดินทางไปยังประเทศญี่ปุ่น เพื่อแสดงความอาลัยกับการเสียชีวิตของ นายชินโซ อาเบะ อดีตนายกรัฐมนตรีของประเทศญี่ปุ่น ที่เสียชีวิตจากการลอบสังหาร

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง