สหรัฐฯ หนุนโครงการเฝ้าสังเกตเขื่อนบนลุ่มน้ำโขง ให้ข้อมูล-ความโปร่งใสต่อภูมิภาค

รายงานพิเศษแก่เบนาร์นิวส์
2020.12.16
สหรัฐฯ หนุนโครงการเฝ้าสังเกตเขื่อนบนลุ่มน้ำโขง ให้ข้อมูล-ความโปร่งใสต่อภูมิภาค เขื่อนจิงหงบนแม่น้ำโขง ในมณฑลยูนนานของจีน ภาพถ่ายไม่ระบุวันที่
ภาพ ยูเนสโก

สหรัฐอเมริกาและพันธมิตรได้เปิดตัวโครงการเฝ้าสังเกตแม่น้ำโขงโครงการใหม่ เพื่อติดตามผลกระทบของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำของจีน และของประเทศอื่น ๆ และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ที่มีต่อแม่น้ำสายสำคัญของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

โครงการเฝ้าสังเกตเขื่อนบนแม่น้ำโขงที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสหรัฐฯ นี้ เกิดขึ้นโดยศูนย์สติมสัน ในวอชิงตัน และบริษัทวิจัยชื่อ อายส์ออนเอิร์ธ โดยใช้การตรวจจับระยะไกล เพื่อส่งข้อมูลแบบเกือบเรียลไทม์จากการทำงานของเขื่อน และระดับน้ำในหกประเทศลุ่มน้ำโขง คือ จีน เมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

โครงการนี้ช่วยเผยให้เห็นถึงการทำงานของเขื่อนและระดับน้ำในแม่น้ำโขง ในลักษณะที่ไม่เคยเป็นไปได้มาก่อนเลย” ไบรอัน อายเลอร์ ผู้อำนวยการ โครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของศูนย์สติมสัน และหัวหน้าคนหนึ่งของโครงการนี้ กล่าว

หน้าจอที่เห็นบนเว็บไซต์ของโครงการข้อมูลน้ำในแม่น้ำโขง ของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เป็นข้อมูลที่รวบรวมจากหลายแหล่งมาไว้ในที่เดียวกัน 

“ผลก็คือ เราหวังว่าความโปร่งใสจะเพิ่มความรับผิดชอบ ให้อำนาจและความมั่นใจมากขึ้นแก่ประเทศที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเขื่อน และในที่สุดแล้ว จะช่วยปกป้องทั้งแม่น้ำและผู้คนที่ต้องพึ่งพาแม่น้ำสายนี้” ไบรอัน อายเลอร์ กล่าว 

โครงการนี้ใช้การตรวจจับระยะไกลและข้อมูลจากดาวเทียม เพื่อคอยดูระดับน้ำในเขื่อนต่าง ๆ บนแม่น้ำโขง รวมถึงเขื่อนในจีนด้วย ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงการไหลตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง โดยระงับน้ำไม่ให้ไหลลงมายังประเทศทางตอนล่างของแม่น้ำโขง 

จีนถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติ เกี่ยวกับการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ถึง 11 แห่ง ไล่เรียงกันบนแม่น้ำโขง ทำให้ลุ่มน้ำโขงตอนล่างประสบปัญหาภัยแล้งอย่างรุนแรง ในช่วงปีที่ผ่านมา บางช่วงของแม่น้ำ ถึงกับเหือดแห้งไปเลยทีเดียว สาเหตุบางส่วนก็เป็นเพราะเขื่อนบนแม่น้ำโขงของจีน 

ในเดือนกันยายน นายไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดตัวความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ (Mekong-U.S. Partnership) ครั้งใหม่ เพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำให้แก่ประเทศที่ประสบกับภัยแล้ง ซึ่งเป็นผลจากการที่จีนควบคุมน้ำในแม่น้ำโขง เจ้าหน้าที่คนอื่น ๆ ของสหรัฐฯ กล่าวว่า การสร้างเขื่อนทางตอนบนของแม่น้ำโขงได้ทำขึ้นโดยปราศจากความโปร่งใส และได้เรียกร้องให้จีนเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นให้แก่ภูมิภาคนี้ เพื่อตอบสนองต่อข้อกังวลจากประเทศทางตอนล่างของแม่น้ำโขง

จีนได้ตกลงที่จะให้ข้อมูลทางอุทกวิทยา เมื่อเร็ว ๆ นี้ จีนได้เปิดตัวเว็บไซต์ให้ข้อมูลออนไลน์ของจีน ภายใต้สโลแกนที่ว่า “ใช้แม่น้ำร่วมกัน มีอนาคตร่วมกัน” 

แม้ข้อมูลจากโครงการใหม่นี้จะช่วยให้ประเทศทางตอนล่างของแม่น้ำโขง สามารถตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่จีนเปิดเผยอย่างเป็นทางการได้ แต่เป้าหมายสำคัญของโครงการนี้ ไม่ได้อยู่ที่การกล่าวโทษจีนเท่านั้น ไบรอัน อายเลอร์ กล่าวในระหว่างการเปิดตัวโครงการ เมื่อวันอังคาร  

“คงไม่มีเหตุผลที่จะมุ่งไปที่เฉพาะเขื่อนของจีนเท่านั้น เรากำลังเฝ้าสังเกตเขื่อน 27 แห่ง ทั่วลุ่มน้ำโขง และยังมีเขื่อนในลุ่มน้ำโขงตอนล่างจำนวนมากกว่าเขื่อนของจีนที่อยู่ตอนบนของแม่น้ำ ที่เรากำลังเฝ้าสังเกตอยู่ ทั้งหมดนี้จะทำให้เห็นผลกระทบสะสมของเขื่อนเหล่านั้นในตอนนี้” ไบรอัน อายเลอร์ กล่าว

หน้าจอการเฝ้าสังเกตดังกล่าว ซึ่งเข้าถึงข้อมูลได้ 29 ปี ยังจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์เข้าใจด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีผลต่อภูมิภาคนี้อย่างไรบ้าง

เราสามารถดูแนวโน้มการไหลตามธรรมชาติ และดูว่าที่จริงแล้ว มีน้ำในแม่น้ำและลำน้ำสาขามากหรือน้อย และเราสามารถระบุได้ว่า น้ำนั้นจะเคลื่อนตามธรรมชาติสู่แม่น้ำและลำน้ำสาขาอย่างไร ในสภาพภูมิกาศที่เปลี่ยนแปลง” อลัน เบซิสต์ ประธานบริษัท อายส์ออนเอิร์ธ หัวหน้าอีกคนของโครงการนี้ กล่าวในการแถลงข่าว 

“เห็นได้ชัดว่า เราเฝ้าสังเกตจังหวะตามธรรมชาติของแม่น้ำโขง และดูว่าจังหวะนั้นกำลังเปลี่ยนไปอย่างไร และจากนั้น ซ้อนทับด้านบนคือสิ่งที่กำลังทำอยู่ เพื่อส่งผลกระบทบต่อการไหลตามธรรมชาตินั้น” อลัน เบซิสต์ กล่าว

ในแถลงการณ์เมื่อวันพุธ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวว่า โครงการใหม่ในการเฝ้าสังเกตแม่น้ำโขงนี้เป็น “ก้าวขั้นสำคัญสู่ความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับภาวะของน้ำในลุ่มแม่น้ำโขง”

ประเทศทั้งหลาย จะไม่สามารถจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ กับสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถวัดได้ และผู้คนที่อาศัยบริเวณลุ่มน้ำโขงขาดข้อมูลที่โปร่งใส เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำของลุ่มน้ำโขงมาเป็นเวลานานมากแล้วเครื่องมือที่มีให้แก่คนทั่วไปนี้ จะทำให้ภูมิภาคนี้ได้ข้อมูลเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และให้ข้อมูลอยู่ในมือของคนที่จำเป็นต้องมีข้อมูลนั้น เพื่อประกอบการตัดสินใจของพวกเขา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำมาหากินของเขาเหล่านั้น และความมั่นคงของภูมิภาค” แถลงการณ์ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง