ผู้สังเกตการณ์ : ไทยจะได้รับผลกระทบจากการไม่ได้เข้าร่วมประชุมผู้นำประชาธิปไตย

รัฐบาลไทยยืนยัน แม้ไม่ได้รับเชิญไม่ใช่ปัญหาสำคัญ
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.11.30
กรุงเทพฯ
ผู้สังเกตการณ์ : ไทยจะได้รับผลกระทบจากการไม่ได้เข้าร่วมประชุมผู้นำประชาธิปไตย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ขณะถ่ายภาพร่วมอย่างเป็นทางการกับคณะรัฐมนตรี ภายหลังการปรับครม. ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 30 มีนาคม 2564
ทำเนียบรัฐบาล/เอเอฟพี

อดีตเอกอัครราชทูตไทย และนักวิชาการ กล่าวว่า ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบด้านการลงทุน และสถานะในเวทีนานาชาติ จากการที่สหรัฐอเมริกาไม่ได้เชิญประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านประชาธิปไตย (Summit for Democracy) ทางออนไลน์ ที่กำหนดให้มีในเดือนธันวาคมนี้

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยเชื่อการไม่ได้รับเชิญเข้าร่วมการประชุมที่นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ริเริ่มที่กำหนดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคม 2564 ไม่ใช่ปัญหาที่มีความสำคัญ

เมื่อสัปดาห์ก่อนเว็บไซต์รัฐบาลสหรัฐฯ ได้เปิดเผยรายชื่อประเทศที่ถูกเชิญให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดด้านประชาธิปไตย 110 ประเทศ ซึ่งพบว่า ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ถูกเชิญเข้าร่วม ขณะที่มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ในฐานะประเทศร่วมภูมิภาคอาเซียนกลับได้รับเชิญ

ประเด็นดังกล่าวถูกฝ่ายต่อต้านรัฐบาลนำมาใช้เป็นประเด็นในการโจมตีทางการเมือง ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเองพยายามจะอธิบายว่า การไม่ได้รับเชิญครั้งนี้ไม่มีปัญหา อย่างไรก็ตาม ในมุมมองของผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สิ่งที่เกิดขึ้นถือว่ามีนัยสำคัญกับประเทศในอนาคต อย่างน้อยคือ การสะท้อนมุมมองที่สหรัฐฯ มีต่อระบอบการปกครองของไทยในปัจจุบัน

“สภาพความเป็นจริงในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ต่างประเทศเขาอาจไม่คิดว่าเราเป็นประชาธิปไตย เพราะมีการละเมิดสิทธิมนุษยชน ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจับเยาวชนเข้าคุกเป็นจำนวนมากด้วยข้อหาที่มีโทษรุนแรง ซึ่งอาจขัดต่อมาตรฐานสากล ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่สหรัฐฯ ไม่เชิญเราเข้าร่วมประชุม” นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศคาซัคสถาน และรองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

“แน่นอนว่า สถานการณ์ของไทยที่เป็นอยู่นี้ จะส่งผลกระทบต่อทั้งการเมืองและเศรษฐกิจของเรา เพราะประเทศส่วนใหญ่ในโลกปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย เขาก็ต้องการที่จะคบค้าสมาคมกับประเทศที่เป็นประชาธิปไตย โปร่งใส ตรวจสอบได้ เพื่อให้มั่นใจในการทำการค้าการลงทุนด้วย ซึ่งเชื่อว่าไทยจะได้รับผลกระทบเรื่องการลงทุน” นายรัศม์ กล่าว

การประชุมสุดยอดด้านประชาธิปไตยเป็นการประชุมครั้งแรก ซึ่งสหรัฐฯ ได้ระบุจุดมุ่งหมายหลัก 3 ประการ คือ 1. ต้องการต่อต้านเผด็จการ 2. แก้ไขปัญหาและปราบปรามการทุจริต และ 3. ส่งเสริมการเคารพหลักสิทธิมนุษยชน โดยมุ่งหวังให้ประเทศผู้ร่วมประชุมประกาศเป้าหมาย รวมถึงข้อตกลงร่วมกัน เพื่อนำพาประเทศไปถึงเป้าหมายหลักของการประชุม

ด้าน น.ส. เอียชา การ์ตี นักวิชาการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อว่า หากในอนาคตประเทศไทยยังไม่ถูกเชิญเข้าร่วมการประชุมนี้อีก จะสร้างปัญหาให้กับประเทศ

“พื้นที่ทางสังคมในเวทีนานาชาติของไทยจะลดลง อำนาจในการต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศก็จะลดลงไปด้วย การให้ความสนับสนุนจากสหรัฐฯ ผ่านทั้งหน่วยงานราชการ และองค์เอกชนก็อาจลดลง และความไว้วางใจจากนักลงทุนก็จะลดลง ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ จะปรากฏให้เห็นแน่ ๆ หากรัฐไทยตกขบวนการฟื้นฟูอำนาจของสหรัฐฯ ขบวนนี้” น.ส. เอียชา กล่าว

ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีมายาวนานเกือบสองร้อยปี โดยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2376 จากที่ทั้งสองฝ่ายมีสนธิสัญญาไมตรีและการพาณิชย์ ไทยเป็นพันธมิตรที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาค และเป็นหนึ่งในประเทศพันธมิตรหลักนอกนาโตของสหรัฐฯ

เบนาร์นิวส์ จึงได้สอบถามเหตุผลที่แท้จริงของการไม่เชิญประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ จากสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงเทพ แต่ทางสถานทูตไม่ได้ระบุรายละเอียดโดยตรง โดยกล่าวว่า “สหรัฐฯ เห็นว่าการประชุมสุดยอดผู้นำประเทศประชาธิปไตยครั้งแรก ในวันที่ 9-10 ธันวาคม เป็นโอกาสที่กลุ่มประชาธิปไตยจะได้สะท้อน รับฟัง และเรียนรู้ประสบการณ์ของรัฐบาลต่าง ๆ รวมทั้งความท้าทายต่อประชาธิปไตย เป้าหมายของการประชุมสุดยอดนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเฉพาะผู้ร่วมประชุม”

“สหรัฐฯ จะร่วมทำงานกับรัฐบาลและประชาชนไทยในการขับเคลื่อนค่านิยมที่ทำให้ประเทศของเราใกล้ชิดกัน รวมทั้งค่านิยมประชาธิปไตย ความอดทนอดกลั้น และความเคารพในสิทธิมนุษยชน” นิโคล ฟ็อกซ์ โฆษกสถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำกรุงเทพ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ในวันอังคารนี้

ทั้งนี้ สำนักข่าวต่างประเทศหลายสำนักได้เสนอประเด็นการประชุมนี้เมื่อวันพุธที่แล้ว ต่อมา นายดอน ปรมัติวินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงกรณีดังกล่าวในสภาผู้แทนราษฎรว่า ไม่ใช่เรื่องสำคัญ หรือกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

“บางประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมีการเลือกตั้งเขาก็ไม่ได้รับเชิญด้วย มันไม่แปลก บางเรื่องเราดีใจด้วยซ้ำ ไม่ต้องเชิญเรา มันเป็นดาบสองคมในหลาย ๆ กรณีเช่นกัน ไม่ใช่ว่าไม่มีคำเชิญแล้วเราจะต้องกระทืบเท้าด้วยความเสียใจ ไม่ใช่เป็นเช่นนั้น ในโลกแห่งความเป็นจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น ถ้ามีการเชิญแล้วเราต้องลิงโลดที่จะไป ก็ไม่เป็นเช่นนั้นเช่นกัน” นายดอน กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

ต่อมา นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ชี้แจงว่า แม้ไทยไม่ได้รับเชิญ “แต่ไทยยังคงยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย และหลักสิทธิมนุษยชนเช่นเดียวกับประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ ทั้งที่ได้รับเชิญและมิได้รับเชิญ” โดยที่ผ่านมา ไทยได้เข้าร่วมการประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการส่งเสริมประชาธิปไตยที่มีความเป็นสากลและได้รับการยอมรับจากประชาคมระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง