แผนจัดซื้อเครื่องบิน เอฟ-35 เป็นเรื่องกระอักกระอ่วนของวอชิงตัน
2022.02.16

บริษัท ล็อคฮีด มาร์ติน นำเครื่องบินสเตลธ์ เอฟ-35 มาแสดงในงานแอร์โชว์ที่สิงคโปร์ในสัปดาห์นี้ เพื่อหวังเรียกลูกค้าในภูมิภาคที่กำลังมีความอ่อนไหว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า วอชิงตันจะขายเครื่องบินที่มีความล้ำหน้าที่สุดให้กับทุกประเทศ
ปัจจุบันนี้ มีประเทศพันธมิตรของสหรัฐหลายประเทศที่มี เอฟ-35 ประจำการเรียบร้อยแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และจะตามมาด้วยสิงคโปร์ ถัดไปอาจจะเป็นประเทศไทย ซึ่งเป็นพันมิตรในเอเชียที่มีพันธสัญญาต่อกันมาอย่างยาวนาน อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กล่าวว่า ยังมีอะไรที่จะการันตีได้ว่าทางสหรัฐจะอนุมัติการขาย เอฟ-35 ให้กับไทย เพราะฝ่ายไทยมีความใกล้ชิดทางทหารกับสาธารณรัฐประชาชนจีนที่เป็นคู่แข่งทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐ
ในงานสิงคโปร์แอร์โชว์ที่จัดสองปีครั้งในปีนี้ ได้มีการแสดง เอฟ-35 เอ (รุ่นสำหรับกองทัพอากาศ) และ เอฟ-35 บี (รุ่นขึ้นลงทางดิ่ง/ระยะสั้น) ร่วมกับเครื่องบินทางทหารรุ่นอื่น ๆ ซึ่งถูกมองว่าเป็นการสร้างความน่าประทับใจให้กับตลาดในภูมิภาคท่ามกลางคำพูดของวอชิงตันที่ว่า “การบังคับขู่เข็ญและความก้าวร้าวของจีนซึ่งทำร้ายภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”
เครื่องบินสเตลธ์ เอฟ-35 ที่ผลิตโดยบริษัท ล็อคฮีด มาร์ติน ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมการบิน กลายเป็นข่าวด้วยเหตุผลที่ไม่น่าเกิดหลังจากที่มีเครื่องบินเอฟ-35 ซี (รุ่นสำหรับเรือบรรทุกเครื่องบิน) เกิดอุบัติเหตุบนเรือบรรทุกเครื่องบิน ยูเอสเอสคาร์ลวิลสันในทะเลจีนใต้ เมื่อปลายเดือนมกราคมนี้ ซึ่งทางทหารสหรัฐกำลังกู้ซากเครื่องบินที่จมลงสู่ท้องมหาสมุทร
แม้จะเกิดเหตุการณ์ร้ายก็ตาม เอฟ-35 ยังถือว่าเป็น “เครื่องบินขับไล่ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากที่สุดในตลาดปัจจุบัน” นายริชาร์ด บิตซิงเกอร์ เจ้าหน้าที่อาวุโสของโครงการการเปลี่ยมโฉมทางการทหาร (Military Transformations Program) ประจำสำนักวิชาวิทยาการ เอส. ราชารัตนาม ในสิงคโปร์
ด้าน นายทิม เคฮิลล์ รองประธานอาวุโสฝ่ายธุรกิจนานาชาติ ของบริษัท ล็อคฮีด มาร์ติน กล่าวยืนยันในงานแอร์โชว์ที่สิงคโปร์ว่า ประเทศไทยได้แสดงความสนใจในเครื่องบินขับไล่ เอฟ-35 แต่ต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาลสหรัฐว่าจะยอมให้ไทยซื้อหรือไม่ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์
“มันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐบาลสหรัฐ” นายทิม เคฮิลล์ กล่าวกับรอยเตอร์
สนใจอย่างมาก
เบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่อเพื่อความคิดเห็นจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลและกองทัพอากาศได้ แต่เมื่อกลางเดือนมกราคม คณะรัฐมนตรีได้สนับสนุนแผนการของกองทัพอากาศที่จะของบประมาณ 13.8 พันล้านบาท เริ่มต้นจากปีงบประมาณ 2566 นี้เพื่อจัดหาเครื่องบินทดแทน เอฟ-16 เอ/บี ไฟติ้งฟอลคอน ที่ประจำการมาอย่างยาวนาน
พล.อ.อ. นภาเดช ธูปะเตมีย์ ผบ.ทอ. ได้แสดงความสนใจในเครื่องบินขับไล่ล่องหนรุ่น เอฟ-35 เป็นอย่างยิ่ง และยังดูเชื่อมั่นว่าจะจัดซื้อได้ เพราะราคาต่อเครื่องได้ลดลงในระดับที่ไขว่คว้าได้ที่เครื่องละ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ
“เอฟ-35 ซึ่งเป็นค่ายของอเมริกัน เป็นเครื่องบินที่มีสมรรถนะดีเลิศ ถ้าเรามีโอกาสได้ใช้งานเครื่องบิน เอฟ-35 มันจะเป็นการยกระดับพรวดเข้าไปอยู่ประเทศที่มีของดี ๆ ใช้ในระดับแนวหน้า” พล.อ.อ. นภาเดช กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อปลายปี
นายแอนเดรียส รุปเปรคท์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการบินทางทหารของกองทัพจีน กล่าวว่า ความสนใจของกองทัพอากาศไทยต่อเครื่องบินขับไล่ของสหรัฐนั้นเป็นเรื่องแปลก “เพราะว่าไทยได้ขยับไปฝั่งจีนมากขึ้นในห้วงเวลาไม่กี่ปีมานี้”
“ผมอาจจะคิดว่ากองทัพอากาศไทยจะเลือกเครื่องบินรุ่น J-10C ของจีนเสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อไทยได้ร่วมการฝึกทางอากาศร่วมกันเมื่อเร็ว ๆ นี้” นายแอนเดรียส กล่าว
เครื่องบิน J-10C เป็นเครื่องบินพหุบทของกองทัพอากาศจีน ที่ยังได้ขายให้กับกองทัพปากีสถาน จำนวน 25 ลำ
แผนการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่จากสหรัฐเผชิญกับการวิจารณ์ ซึ่งนักวิเคราะห์บางท่านกล่าวว่า เป็นเรื่อง “เจตนาซ่อนเร้นมากกว่าเป้าประสงค์ทางยุทธศาสตร์”
“ความสนใจในเอฟ-35 ของกองทัพอากาศไทยเป็นการฉวยโอกาส เพราะว่ารัฐบาลที่มีทหารหนุนหลังยังอยู่ในอำนาจ และทหารเองได้แทรกแซงการเมืองหลังจากการรัฐประหารในปี 2549 และ 2557” ศ.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าว
“ภัยคุกคามที่คาดว่าจะมีต่อประเทศไทย ไม่ได้มากถึงกับต้องจัดซื้อเครื่องที่มีความล้ำหน้าอย่าง เอฟ-35 เข้าประจำการ ต่างจากกรณีของญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน"
"ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนและไม่ได้มีปัญหาด้านพรมแดนกับประเทศเพื่อนบ้านใด ๆ”
เครื่องบินขับไล่ F-35B ในงานสิงคโปร์แอร์โชว์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 (รอยเตอร์)
“ขาดความไว้วางใจ”
ความสัมพันธ์ทางทหารระหว่างไทยกับจีนที่กำลังเติบโต คือเหตุผลหลักที่สหรัฐมีความกระอักกระอ่วน ในการจะขายเครื่องบินที่มีความก้าวหน้าระดับสูง นายเอียน สตอรีย์ เจ้าหน้าที่อาวุโสของสถาบันยูโซฟ อิชัก (ISEAS) ในประเทศสิงคโปร์ให้ความเห็น
“ประเทศไทยเป็นพันธมิตรที่มีสนธิสัญญาระหว่างกันกับสหรัฐ การจัดซื้อจึงเป็นเรื่องที่มีน้ำหนัก แต่ว่าสหรัฐยังคงมีความกังวลว่า เทคโนโลยีของเครื่องบินที่มีความอ่อนไหวอาจจะถูกไทยปล่อยให้จีนเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้” นายเอียนกล่าว
“สหรัฐเขี่ยตุรกีออกจากโครงการการซื้อขาย เอฟ-35 เพราะว่าตุรกีมีความใกล้ชิดกับรัสเซียมากเกินไป” นายริชาร์ด บิตซิงเกอร์ กล่าว โดยอ้างอิงถึงการที่สหรัฐฯ ล้มเลิกการขาย เอฟ-35 เอ จำนวน 100 ลำ ให้กับตุรกี เพราะทางตุรกีตัดสินใจซื้อระบบป้องกันภัยทางอากาศ S-400 จากรัสเซีย ในปี 2562
แถลงการณ์ของทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐ ในขณะนั้น ระบุว่า “เครื่องบิน เอฟ-35 ไม่สามารถอยู่ร่วมกับระบบการรวบรวมข่าวกรองของรัสเซีย ที่เรียนรู้ถึงขีดความสามารถที่ก้าวหน้าของ เอฟ-35 ได้”
“ประเทศไทยซื้ออาวุธจากจีนมาหลายรายการแล้ว ได้แก่ เรือฟรีเกต เรือดำน้ำ และรถถัง ซึ่งเป็นส่วนเล็กน้อยที่กล่าวถึงที่ไทยได้ซื้อจากจีน” นายริชาร์ด บิตซิงเกอร์ กล่าวเปรียบเทียบความหวังที่ไทยจะได้ครอบครอง เอฟ-35
เมื่อพิจารณาถึงความกังวลของสหรัฐที่ต้องรักษาความลับทางเทคโนโลยีของ เอฟ-35 ผมสงสัยว่า วอชิงตันจะยังอยากที่จะไว้วางใจประเทศไทย”
นอกจากเครื่องบิน เอฟ-16 และ เอฟ-5 แล้ว กองทัพอากาศไทยยังมีเครื่องบินแบบ JAS-39 Gripen ประจำการอีก 11 ลำ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ไทยสามารถจัดซื้อเครื่องบินในตระกูลเหล่านี้ได้ รวมทั้งเครื่องบินแบบราเฟลของฝรั่งเศสที่อินโดนีซียเพิ่งซื้อไป ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วอินโดนีเซียได้ลงนามในสัญญาจัดซื้อเครื่องบินรบพหุบท รุ่นราเฟล จำนวน 42 ลำ โดยหกเครื่องแรกจะส่งมอบในปี 2569
และเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมารัฐบาลของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้อนุมัติการเสนอขายเครื่องบินรบรุ่น เอฟ-15 ที่ดัดแปลงสำหรับอินโดนีเซีย จำนวน 36 ลำ มูลค่า 14,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งอาจจะเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของกองทัพอากาศไทย นายเอียน สตอรีย์กล่าว
ตลาดเอฟ-35 กำลังเติบโต
เอฟ-35 ไลท์นิ่งทู เป็นเครื่องบินรบพหุบท ที่นั่งเดี่ยว เครื่องยนต์เดียว และมีความสามารถในการหลบหลีกการตรวจจับของเรดาร์
ในจำนวนสามรุ่นย่อยนั้น เอฟ-35 เอ เป็นรุ่นสำหรับกองทัพอากาศที่ราคาถูกที่สุด ส่วน เอฟ-35 บี เป็นรุ่นที่ออกแบบมาสำหรับทางวิ่งสั้นและการขึ้นลงทางดิ่งสำหรับนาวิกโยธิน และเอฟ-35 ซี ถูกออกแบบสำหรับประจำการบนเรือบรรทุกเครื่องบินสำหรับกองทัพเรือ ซึ่งเป็นรุ่นที่เกิดอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 24 มกราคม
พันธมิตรและหุ้นส่วนในย่านอินโดแปซิฟิกที่สหรัฐฯ ไว้ใจมากที่สุดได้จัดซื้อ เอฟ-35 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หรือไม่ก็กำลังดำเนินการจัดซื้ออยู่
ออสเตรเลียได้สั่งซื้อ เอฟ-35 เอ รวม 72 ลำ และรับส่งมอบแล้ว 44 ลำ เมื่อปลายปี 2564 ซึ่งออสเตรเลียหวังว่าจะนำเอฟ-35 ทั้งหมดเข้าประจำการได้ในสิ้นปี 2566 และพิจารณาที่จะซื้อเพิ่มเติม
ญี่ปุ่นที่กำลังเผชิญภัยคุกคามจากจีน ประกาศเมื่อเดือนธันวาคมปี 2561 ว่าจะจัดซื้อ เอฟ-35 รวม 105 ลำ เป็นรุ่นเอ 63 ลำ รุ่นบี 42 ลำ เพิ่มเติมจากรุ่นเอ จำนวน 42 ลำ ที่จัดซื้อไปก่อนหน้านั้นแล้ว
เกาหลีใต้จัดซื้อเอฟ-35 เอ 40 ลำ ในปี 2557 และอนุมัติการจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 20 ลำ รวมทั้งยังพิจารณาจัดซื้อรุ่นบี อีกด้วย
ส่วนสิงคโปร์ เป็นประเทศล่าสุดในย่านอินโด-แปซิฟิก ที่จัดซื้อเครื่องบินล่องหนแบบ เอฟ-35 จากสหรัฐ ซึ่งเชื่อว่าล็อตแรกที่จะส่งมอบจะเป็นรุ่นบี จำนวน 12 ลำ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้อนุมัติการร้องขอจัดซื้อ เอฟ-35 ในเดือนมกราคม 2563 และจะเริ่มส่งมอบในปี 2569 ตามรายงานของนิตยสารด้านการบินรายเดือน เอวิเอชัน อินเตอร์เนชั่นแนล นิวส์ (Aviation International News)